+ + รีวิว....ราชอาณาจักรกัมพูชา..ดินแดนแห่งมหาปราสาทขอม..+ +

ณ ดินแดนแห่งนี้.....ราชอาณาจักรกัมพูชา...เปรียะ เรียเจียนาจักร กัมปูเจีย

....ก่อน อื่นต้องกล่าวคำว่า....ซัวสะเดย ....ก่อนละกัน เพื่อทักทายสวัสดีทุก ๆ ท่าน.....ดินแดนแห่งนี้ ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศหนึ่งใน ๑๑ ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทางทิศใต้จรดกับอ่าวไทย ทางทิศตะวันตกติดกับประเทศไทย ทางทิศเหนือติดกับประเทศไทยและลาว ทางทิศตะวันออกติดกับเวียดนาม กัมพูชาเป็นอดีตประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพียงแค่ประเทศเดียวเท่านั้นที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐ ธรรมนูญ....

....กัมพูชา มีเนื้อที่ทั้งประเทศ ๑๘๑,๐๓๕ ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ ๑ ใน ๓ ของประเทศไทย เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศยาวประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร โดยมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว ๗๙๘ กิโลเมตร ...มีกรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวงของประเทศ...ประชากรทั้งประเทศ ราว ๑๔ ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขมรและญวน มีจีนและไทยบางส่วน ชาวกัมพูชาใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ แต่ก็มีการใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย และภาษาจีน โดยทั่วไป

.... รัฐธรรมนูญกัมพูชาบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาร้อยละ ๙๕ ศาสนาอิสลามร้อยละ ๓ ศาสนาคริสต์ ร้อยละ ๑.๗ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ร้อยละ ๐.๓

................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้ .....ซัวสะเดย เป็นการทักทายกันเหมือนสวัสดีในภาษาไทย

................................................................................................

ในภาพ : ภายใต้เงาทมึนของปราสาทนครวัดที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่า




เขตการปกครองภายใต้ราชอาณาจักรกัมพูชา....

.....ประเทศกัมพูชามีเขตการปกครองแบ่งออกเป็น ๔ กรุง (เทศบาล municipalities) ได้แก่

๑. กรุงพนมเปญ, พนุมเป็ญ (Phnom Penh)
๒. กรุงไพลิน (Pailin)
๓. กรุงแกบ (Kep)
๔. กรุงพระสีหนุ, สีหนุวิลล์หรือกำปงโสม (Sihanoukville, Kampong Som)

และอีก ๒๐ จังหวัด ได้แก่

๑. จังหวัดกระแจะ (Kratie)*
๒. จังหวัดเกาะกง (Koh Kong)*
๓. จังหวัดก็อนดาล, กันดาล (Kandal) มีเมืองท่าเขมาเป็นเมืองเอก
๔. จังหวัดกัมปงจาม, ก็อมปวงจาม (Kampong Cham)*
๕. จังหวัดก็อมปวงชนัง, กัมปงชนัง (Kampong Chhnang)*
๖. จังหวัดก็อมปวงต็วม, กัมปงทม (Kampong Thom)*
๗. จังหวัดก็อมปวงสะปือ, กัมปงสะปือ  (Kampong Speu)*
๘. จังหวัดกำปอต, กำโพธิ (Kampot)*
๙. จังหวัดตาแก้ว (Takeo)*
๑๐. จังหวัดรัตนคีรี (Ratanakiri) มีเมืองบ้านลุงเป็นเมืองเอก
๑๑. จังหวัดเปรียะฮ์วิเหียร์ฺ, พระวิหาร (Preah Vihear) มีเมืองพนมตะเบงเมียนไจยเป็นเมืองเอก
๑๒. จังหวัดบัตดอมบอง, พระตะบอง (Battambang)*
๑๓. จังหวัดโพธิ์ซัต, โพธิสัต (Pursat)*
๑๔. จังหวัดบันเตียเมียนเจย, บันทายมีชัย (Banteay Meanchey) มีเมืองศรีโสภณเป็นเมืองเอก
๑๕. จังหวัดเปรยแวง, เปรเวง (Prey Veng)
๑๖. จังหวัดม็อนด็อลกีรี, มณฑลคีรี (Mondulkiri) มีเมืองแสนมโนรมย์เป็นเมืองเอก
๑๗. จังหวัดสตึงเตรง (Stung Treng)*
๑๘. จังหวัดสวายเรียง (Svay Rieng)*
๑๙. จังหวัดเสียมเรียบ, เสียมราฐ (Siem Reap)*
๒๐. จังหวัดโอดดาร์เมียนเจย, อุดรมีชัย  (Oddar Meancheay) มีเมืองสำโรงเป็นเมืองเอก

.................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. จูมเรียบซั่ว ใช้ทักทายกับผู้ที่สูงวัยกว่า

.................................................................................................

ในภาพ : แผนที่แสดงที่ตั้งและแนวพรมของราชอาณาจักรกัมพูชา



สภาพภูมิประเทศของประเทศกัมพูชา....

....มีแม่น้ำและทะเลสาบสำคัญ ๆ ได้แก่

๑. แม่น้ำโขงไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขตเวียดนาม มีความยาวในเขตกัมพูชารวม ๕๐๐ กิโลเมตร
๒. แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ ความยาว ๑๓๐ กิโลเมตร
๓. แม่น้ำบาสัก เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว ๘๐ กิโลเมตร
๔. ทะเลสาบ (โตนเลสาบ) เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ ๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ถือเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

... ประเทศกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ประกอบด้วยที่ราบรอบทะเลสาบเขมร และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง มีทิวเขาล้อมรอบทางเหนือ คือเทือกเขาพนมดงรัก เทือกเขาบรรทัด เทือกเขาอันนัม ...กัมพูชา มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายชามหรืออ่าง คือ ตรงกลางเป็นแอ่งทะเลสาบและลุ่มแม่น้ำโขงอันกว้างขวาง มีภูเขาล้อมรอบอยู่ ๓ ด้าน ได้แก่

๑. ด้านตะวันออกมีแนวเทือกเขาอันนัมที่เป็นพรมแดนกับประเทศเวียดนาม
๒. ด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือมีแนวเทือกเขาพนมดงรักที่เป็นพรมแดนกับประเทศไทย
๓. ด้านใต้และตะวันตกใต้มีแนวเทือกเขาบรรทัดที่เป็นแนวพรมแดนกับประเทศไทย

..... เฉพาะด้านตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง

..... ยอดเขาสูงที่สุดของกัมพูชาคือ พนมอาออรัล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑,๘๑๓ เมตรทางทิศเหนือของกัมพูชามีเขตแดนติดกับประเทศไทยระยะทางยาว ๗๕๐ กิโลเมตร ติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด โดยมีเทือกเขาพนมดงรัก และเทือกเขาบรรทัดกั้น......

สภาพภูมิอากาศ.....

...มี อากาศแบบมรสุมเขตร้อนเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม ฤดูฝนเริ่มจากเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูแล้ง เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เดือนเมษายนมีอุณหภูมิสูงสุดที่สุด เดือนมกราคมมีอุณหภูมิต่ำที่สุด เดือนตุลาคมมีฝนตกชุกที่สุด .....

.................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. อรุณ ซัวสะเดย ใช้กับการกล่าวทักทายในยามเช้า

.................................................................................................

ในภาพ : บริเวณโตนเลสาบ ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย...



....ว่าด้วยเรื่องโตนเลสาบกันต่อ....ทะเลสาบเขมร หรือ ทะเลสาบกัมพูชา เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อในภาษาเขมรว่า " โตนเลสาบ " (Tonle Sap) ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ ประมาณ ๗,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร (เมื่อถึงช่วงน้ำหลาก) หรือใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ ๗ เท่า ความลึกโดยเฉลี่ย อยู่ที่ ๑๐ เมตร โตนเลสาปนี้เกิดจากแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำโขงไหลผ่านมีความยาวถึง ๕๐๐ กิโลเมตร โตนเลสาปครอบคลุมพื้นที่ ๕ จังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ เป็นทะเลสาบที่มีปลาน้ำจืดชุกชุมมากแห่งหนึ่งประมาณ ๓๐๐ ชนิด จึงมีชาวกัมพูชาเป็นจำนวนมากที่ประกอบอาชีพประมงในบริเวณสาปแห่งนี้

....ทะเลสาบเขมรยังเป็นที่ที่ค้นพบหนึ่งในราชกกุธภัณฑ์ พระแสงขรรค์ชัยศรีอีกด้วย

.................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. ทิเวียห์ ซัวสะเดย การกล่าวทักทายกันในยามบ่าย

.................................................................................................

ในภาพ : โตนเลสาป หรือ ทะเลสาบเขมร


การเมืองการปกครอง....ของราชอาณาจักรกัมพูชา...

.... กัมพูชามีระบอบการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ....พระประมุของค์ปัจจุบันมี พระนามว่า....

... พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงได้รับการถวายพระปรมาภิไธยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า " พระกรุณา พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี สมานภูมิชาติศาสนา รักขตขัตติยา เขมรารัฐราษฎร์ พุทธินทราธรามหากษัตริย์ เขมราชนา สมูโหภาส กัมพุชเอกราชรัฐบูรณสันติ ศุภมังคลา สิรีวิบุลา เขมราศรีพิราษฎร์ พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี "

..... สร้อยพระปรมาภิไธยนั้นแปลได้ความว่า " ผู้รับใช้มาตุภูมิ ศาสนา ประชาชาติ และประชาราษฎร์เขมร โดยสวามิภักดิ์ และภักดีภาพ มหากษัตริย์ซึ่งพระพุทธและพระอินทร์ท่านอุปถัมภ์ ผู้รวบรวมเขมรชนทั้งสิ้น ผู้ปกป้องเอกราช บูรณภาพแผ่นดินและสันติภาพของกัมพูชา พร้อมทั้งศุภมงคล เสรีภาพ และวิบุลภาพ ของประชาราษฎร์เขมร "

..... พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษา ๕๑ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ โดยมติเป็นเอกฉันท์ของคณะที่ปรึกษาราชบัลลังก์ ภายหลังการประกาศสละราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อันเนื่องจากปัญหาทางพระพลานามัย....

..... พระองค์ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า " พระองค์จะทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายกัมพูชา และจะทรงประกอบพระราชภารกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน "

................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. สายอนห์ ซัวสะเดย ใช้ทักทายกันตอนเย็น ๆ

................................................................................................

ในภาพ : พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี



ะบบการปกครองด้านนิติบัญญัติและการบริหารราชการแผ่นดิน.....

+ สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก ๑๒๓ คน มาจากการเลือกตั้งโดยระบบสัดส่วนตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี

+ วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิก ๖๑ คน มาจากการเลือกตั้ง (กษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ๒ คน) ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ดำรงตำแหน่งคราวละ ๖ ปี

+ โครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วยกระทรวงหลัก ๒๖ กระทรวง ได้แก่

๑. สำนักนายกรัฐมนตรี
๒. กระทรวงกลาโหม
๓. กระทรวงมหาดไทย
๔. กระทรวงประสานงานกับรัฐสภาและการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ
๕. กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ
๖. กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง
๗. กระทรวงข่าวสาร
๘. กระทรวงสาธารณสุข
๙. กระทรวงอุตสาหกรรม, เหมืองแร่และพลังงาน
๑๐. กระทรวงวางแผน
๑๑. กระทรวงพาณิชย์
๑๒. กระทรวงศึกษาธิการ, เยาวชนและการกีฬา
๑๓. กระทรวงเกษตร, ป่าไม้และการประมง
๑๔. กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปากร
๑๕. กระทรวงสิ่งแวดล้อม
๑๖. กระทรวงพัฒนาชนบท
๑๗. แรงงานและการฝึกฝนอาชีพ
๑๘. กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม
๑๙. กระทรวงศาสนา
๒๐. กระทรวงกิจการสตรี
๒๑. กระทรวงกิจการสังคมและทหารผ่านศึก
๒๒. กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง
๒๓. กระทรวงยุติธรรม
๒๔. กระทรวงการท่องเที่ยว
๒๕. กระทรวงพัฒนาผังเมืองและการก่อสร้าง
๒๖. กระทรวงชลประทาน

และอีก ๒ สำนักงานอิสระ (เทียบเท่าทบวง) ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนและสำนักงานข้าราชการพลเรือน

+ พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party - CPP) พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC หรือ Front Uni National pour un Cambodge Indépendant, Neutre, Pacifique, et Coopératif) พรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party - SRP) พรรคนโรดม รณฤทธิ์ (Norodom Ranariddh)

บุคคลสำคัญทางการเมืองและด้านนิติบัญญัติ

- ประธานสภาแห่งชาติ สมเด็จเฮง สัมริน (Samdech Heng Samrin)

- นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน สมเด็จฮุน เซน (Samdech Hun Sen)

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ นายฮอร์ นัมฮอง (Mr. Hor Namhong) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย

.................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. เรียห์ตรี ซัวสะเดย ใช้ตอนจะเข้านอนแล้ว ราตรีสวัสดิ์จ้า

.................................................................................................

ในภาพ : จากซ้ายไปขวา...ประธานสภาฯ เฮง สัมริน, นายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุน เซน และรองนายกรับมนตรีฮอร์ นัมฮง



นายกรัฐมนตรีสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ....

.... ปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายสมัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตั้งแต่อายุ ๓๓ ปี (เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๘ นับถึงปัจจุบันก็อยู่ในวาระมาแล้ว ๒๔ ปี)

.... สมเด็จฮุน เซนเกิดเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ แต่ได้แจ้งว่าเกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม เมื่อครั้งแรกที่เข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติ (เขมรแดง) เกิดที่จังหวัดกำปงจาม เป็นลูกชาวนา ฮุน เซนเร่ร่อนออกจากบ้านเมื่ออายุ ๑๓ ปี อาศัยข้าวก้นบาตรกับพระที่วัดเพื่อได้มีโอกาสเรียนหนังสือ

.... พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้เข้าร่วมในกองทัพปฏิวัติ (เขมรแดง) ทำการสู้กับทหารลอนนอนซึ่งสหรัฐอเมริการให้การสนับสนุน ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง ๒๕๒๑ เขมรแดงปกครองกัมพูชา ฮุนเซนถูกจับให้แต่งงานหมู่รวม ๑๓ คู่เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ในวัย ๒๕ ปี เจ้าสาวชื่อบุญ สมเอียง มีพยานรัก ๔ คน แต่เขาไม่มีโอกาสเห็นหน้าลูกคนแรกเพราะหนีการไล่ล่าของเขมรแดง

.... ในปัจจุบัน สมเด็จฮุน เซนได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี เป็น สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ นอกจากนั้น ยังมีบุคคลที่สำคัญกัมพูชาได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์ ๓ คน หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จเจีย ซิม ประธานสภาแห่งชาติกัมพูชา....

.................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. ซู๊กสะบายเจียเต คุณสบายดีมั้ยครับ..

.................................................................................................

ในภาพ : นายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุน เซน


ประวัติศาสตร์กัมพูชา.....จริง ๆ แล้วต้องถือว่ามความเป็นมายาวนานมาก...ถ้าจะว่ากันให้หมดสิ้นก็คงลากกระทู้ ยาวเฟื้อย ขอขออนุญาตนำหัวข้อมาแปะให้ดูละกันครับว่า....กัมพูชาผ่านยุคใดมาบ้าง....

+ ประวัติศาสตร์ยุคแรกของกัมพูชา

๑. ฟูนัน (พ.ศ.๖๑๑ – พ.ศ.๑๐๙๓)

๒. เจนละ (พ.ศ.๑๐๙๓ – พ.ศ.๑๓๔๕)

๓. อาณาจักรขอม (พ.ศ.๑๓๔๕ – พ.ศ.๑๙๗๔)

๔. ยุคจตุมุข (พ.ศ.๑๙๗๔ – พ.ศ.๒๐๖๘)

๕. ยุคเมืองละแวก (พ.ศ.๒๐๖๘ – พ.ศ.๒๑๓๖)

+ ยุคมืดของกัมพูชา

๑. ยุครัฐในอารักขาของไทยและเวียดนาม (พ.ศ.๒๑๓๖ – พ.ศ.๒๓๗๙)

๒. ยุครัฐในอารักขาของฝรั่งเศส (พ.ศ.๒๔๐๖–พ.ศ.๒๔๙๖)

+ หลังได้รับเอกราช

๑. สงครามกลางเมืองในกัมพูชา (พ.ศ.๒๕๑๐ – พ.ศ.๒๕๑๘)

๒. รัฐประหารในกัมพูชา พ.ศ.๒๕๑๓

๓. สงครามเวียดนามในกัมพูชา พ.ศ.๒๕๑๓

๔. ยุคเขมรแดง (พ.ศ.๒๕๑๘ – พ.ศ.๒๕๑๙)
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87

๕. สงครามกัมพูชา - เวียดนาม (พ.ศ.๒๕๑๘ – พ.ศ.๒๕๓๒)

๖. สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (พ.ศ.๒๕๒๒ – พ.ศ.๒๕๓๖)

๗. กัมพูชาในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๖ – ปัจจุบัน)

.................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. ออกุนเจริญ.... ขอบคุณครับ

................................................................................................

ในภาพ : ศิลปกรรมตามอาคารบ้านเรือนแบบฝรั่งเศสยังคงมีให้เห็นในพนมเปญและเมืองใหญ่ ๆ ของกัมพูชา



ความภาคภูมิใจแห่งราชอาณาจักร.....มหาปราสาทนครวัด - นครธม....

+ นครวัด ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ในประเทศกัมพูชา สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เพื่อเป็นศาสนสถานประจำนครของพระองค์ เมื่อสมัยแรกนั้น นครวัดได้ถูกสร้างเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย แต่ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้เปลี่ยนให้เป็นวัดในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ในปัจจุบันปราสาทนครวัดนับเป็นสิ่งก่อสร้างสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา และได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร ....

....ประวัติ

        ปราสาทนครวัดได้เริ่มสร้างในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ เพื่อบูชาแด่ พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ ในปี พ.ศ. ๑๗๒๐ ชาวจามได้บุกรุกขอม ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ต้องย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองนครหลวง หรือ เสียมราฐ ในปัจจุบัน หลังจากนั้น พระองค์จึงสร้างเมืองนครธม และ ปราสาทบายน ห่างจากปราสาทนครวัดไปทางเหนือ เพื่อเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของชาวขอม

ในปี พ.ศ. ๒๑๒๙ ได้มีนักบวชจากโปรตุเกส นามว่า อันโตนิโอ ดา มักดาเลนา (Antonio da Magdalena) เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้ไปเยือนปราสาทนครวัด แต่ที่จะถือว่าเป็นการเปิดประตูให้แก่ปราสาทนครวัดนั้น คือการค้นพบของ อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสะสมแมลงและนักสำรวจชาวฝรั่งเศส เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้วมา

ปราสาทนครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างในยุคสิ้นสุดของราชอาณาจักรขะแมร์ โดยมีหินทรายเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก

....ขนาดและการก่อสร้าง

        ปราสาทนครวัดมีขนาดใหญ่มากถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ตัวปราสาทสูง ๖๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร และกว้าง ๘๐ เมตร มีแผนผังที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาท ๕ หลังตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติของศูนย์กลางจักรวาล มีกำแพงด้านนอกยาวด้านละ ๑.๕ กิโลเมตร มีคูน้ำล้อมรอบตามแบบ มหาสมุทรบนสวรรค์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

ใช้ หินรวม ๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ใช้แรงงานช้างกว่า ๔๐,๐๐๐ เชือก และแรงงานคนนับแสนขนหินและชักลากหินมาจากเขาพนมกุเลน ชึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า ๕๐ กิโลเมตร มาสร้าง

ปราสาทนครวัด มีเสา ๑,๘๐๐ ต้น หนักต้นละกว่า ๑๐ ตัน ใช้เวลาสร้างร่วม ๑๐๐ ปี ใช้ช่างแกะสลัก ๕,๐๐๐ คน และใช้เวลาถึง ๔๐ ปี

หอ สูง ๖๐ กว่าเมตรศูนย์กลางของกลุ่มปราสาท อันเปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาลนั้น มีทางเดินขึ้นที่ชันมาก (ราว ๕๐ องศา) แต่ก็กลับเป็นจุดสำคัญที่นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยจะต้องปีนขึ้นไปและไต่ลง มา ที่จุดบนสุดของหอนี้จะมองเห็นวิวที่สวยสุดของปราสาทนครวัด

....รูปสลักและงานประติมากรรม

          ทางด้านกำแพงชั้นนอกรอบปราสาทนั้น มีความยาวกว่า ๘๐๐ เมตร มีงานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่อง รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดก็คือรูปที่เทวดากับอสูรกวนเกษียรสมุทรด้วยเขาพระ สุเมรุ และยังมีรูปแกะสลักนางอัปสรอีกถึง ๑,๖๓๕ นาง ที่ทั้งหมดแต่งกายและทรงผมไม่ซ้ำกันเลย

มีภาพจำหลักหินด้านหนึ่งเป็น ภาพกองทัพสยาม ที่ส่งไปช่วยรบกับพวกจาม มีอักษรจารึกไว้ว่า “สยำ กุก” ปัจจุบันถูกเอาออกไปแล้วน่าจะหมายถึงกองทัพสยามจากลุ่มแม่น้ำกก คือกำลังที่มาจากเมืองเชียงราย เมืองเชียงแสนหรือจากสุพรรณบุรี และคำว่า “ โลว” สันนิษฐานว่าเป็นกองทัพจากเมืองละโว้

................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. ซมโตส ขอโทษครับผม

................................................................................................

ในภาพ : ภาพปราสาทนครวัดเด่นตระหง่านที่เมืองเสียมราฐ



+ นครธม

..... นครธมเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขะแมร์ สถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศวรรษที่ ๑๒ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ ๙ ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ นครวัด ภายในเมืองมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับแต่สมัยแรกๆ และที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และรัชทายาท ใจกลางพระนครเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมัน เรียกว่า ปราสาทบายน และมีพื้นที่สำคัญอื่นๆ รายล้อมพื้นที่ชัยภูมิถัดไปทางเหนือ

..... จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้า ๔ หน้า ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่สองข้างสะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมจะพบสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณประตูด้านใต้นี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ได้ดีกว่าบริเวณอื่นๆ อีก ๓ ด้าน

.................................................................................................

ภาษาเขมร.. แอร์โฮสเตสแบบฉบับเขมรเขาเรียกว่า.... เนียงบำเรอกำปั่นเหาะ

.................................................................................................

ในภาพ : อีกหนึ่งความภูมิใจมหาปราสาทนครธม


ซุ้มประตู....ทางเข้ามหาปราสาทนครธม

นโยบายต่างประเทศ

..... กัมพูชายึดถือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดตาม ที่ได้ประกาศไว้ต่อสภาแห่งชาติ ภายหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศสงบลงกัมพูชาเริ่มแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มบทบาทของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่

๑. การเพิ่มบทบาทในสหประชาชาติ อาทิ การสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของประชาคมโลก การแก้ไขปัญหาโรคเอดส์และโรคระบาดต่างๆ นอกจากนี้ กัมพูชายังมองว่าสหประชาชาติเป็นองค์กรสำคัญ ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายในกัมพูชา เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินการตามแผนพัฒนา ยุทธศาสตร์แห่งชาติ (National Strategic Development Plan - NSDP) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๓ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

๒. การเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงบวกในสายตาของนานาประเทศ และการแสวงหาประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือ เพื่อการพัฒนา การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การพัฒนาด้านการศึกษา และการส่งเสริมการท่องเที่ยว

................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. ทะไลโปนมาน ...ราคาเท่าไหร่ครับ

................................................................................................

ในภาพ : ตลาดกลางกรุงพนมเปญ


พนมเปญรีวิว.....

................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. นับ ๑ ถึง ๑๐ .............มวน ปี เบ บวน บราม บรามมวย บรามปี บรามเบ บรามบวน ตอบ


พระบรมมหาราชวังเขมรินทร์ในกรุงพนมเปญ...Phnom penh palace...

.................................................................................................

ภาษา เขมรน่ารู้.. มานับเลขกันต่อ ๑๑-๒๐ ...ดอบมวย ดอบปี ดอบเบ ดอบบวน ดอบบราม ดอบบรามมวย ดอบบรามปี  ดอบบรามเบ ดอบบรามบวน มะเพย์





ภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของราชอาณาจักรกัมพูชา....

๑. กัมพูชายังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีความยากจนมากประเทศหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลกัมพูชาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงสุดต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา เศรษฐกิจและสังคม ของประเทศเพื่อมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทให้ดี ขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์แห่ง ชาติ (National Strategic Development Plan - NSDP) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ - ๒๕๕๓ ยุทธศาสตร์ลดความยากจนแห่งชาติ (National Poverty Reduction Strategy - NPRS) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Cambodia’s Millennium Development Goals - CMDGs) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายให้กัมพูชาก้าวเดินไปสู่การพัฒนาและความเจริญ ก้าวหน้าที่มั่นคงและยั่งยืน

๒. รัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายและประกาศใช้ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม (จัตุโกณ) เพื่อการเจริญเติบโต การจ้างงาน ความเสมอภาคและประสิทธิภาพในกัมพูชา (“Rectangular Strategy” for Growth, Employment, Equity and Efficiency in Cambodia) ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

+ หลักการภายใต้ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม

- เป็นวาระแห่งชาติของกัมพูชาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้าน เศรษฐกิจและสังคมที่กัมพูชากำลังเผชิญอยู่และการพัฒนาศักยภาพของกัมพูชา ได้แก่ การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ, ส่งเสริมการสร้างงาน, การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการของรัฐบาลเพื่อประกันความเท่าเทียมกันและความ เป็นธรรมในสังคม, การเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของรัฐบาลในการดำเนินโครงการปฏิรูปในทุก สาขาเพื่อลดความยากจนและบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ความสำคัญของยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม ได้แก่ การมุ่งพัฒนาประเทศเพื่อต่อยอดจากยุทธศาสตร์สามเหลี่ยม (ตรีโกณ หรือ Triangular Strategy) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ ๙ ประการ ได้แก่ การขจัดความยากจนและหิวโหย, การจัดระบบการศึกษาขั้นต้น ๙ ปี, การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ, การลดอัตราการตายของทารก, การปรับปรุงระบบสาธารณสุข, การต่อสู้กับโรคติดต่อร้ายแรง (HIV/AIDS มาลาเรีย ฯลฯ), การปกป้องสิ่งแวดล้อม, การสร้างหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา, การเก็บกู้ทุ่นระเบิดและการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานของการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยมุ่งพัฒนาและนำประเทศไป สู่การเติบโต การจ้างงาน ความเท่าเทียมกัน และความมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกื้อกูลต่อการปฏิรูป ทางการเมือง และความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

+ โครงสร้างของยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม ประกอบด้วย

- ยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยมุ่งเน้นการปฏิรูป ๔ ประการ ได้แก่ การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง, การปฏิรูปกฎหมายและการศาล, การบริหารสาธารณะ, การปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะการลดจำนวนกำลังพลและหันไปเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรและอาวุธ ยุทโธปกรณ์
- สร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ ความสงบเรียบร้อย เสถียรภาพทางการเมือง และระเบียบทางสังคม, การสร้างหุ้นส่วนด้านการพัฒนาซึ่งรวมถึง ภาคเอกชน ประเทศผู้บริจาค และประชาชน, การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการคลัง, การบูรณาการกัมพูชาเข้าสู่ภูมิภาคและโลก
- ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยมยังได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศใน ๔ สาขาหลัก ได้แก่ ด้านการเกษตร, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาภาคเอกชนและสนับสนุนการสร้างงาน, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุข
- ยุทธศาสตร์การลดความยากจนของรัฐบาล ได้แก่ การเสริมสร้างความสงบเรียบร้อย เสถียรภาพ และจัดระเบียบทางสังคมโดยใช้มาตรการซึ่งสนับสนุนกฎเกณฑ์และความถูกต้องชอบ ธรรมตามกฎหมาย การเคารพในสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคงให้นำไปสู่การพัฒนาที่ ยั่งยืนในระยะยาว, การรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนประมาณร้อยละ ๕ - ๗ ต่อปี, การส่งเสริมการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันระหว่าง คนรวยกับคนจน ระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง, การพัฒนาการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

....ปัจจุบันกัมพูชากำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจไว้ ๘ ประการ ได้แก่

๑. การฟื้นฟูระบบชลประธานเพื่อการเกษตร
๒. การพัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคม
๓. การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ
๔. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
๕. การสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
๖. การพัฒนาการท่องเที่ยว
๗. การสำรวจและใช้ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน
๘. การพัฒนาการค้า การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดี โดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ประมาณว่าจะขยายตัวร้อยละ ๙.๕ และ ๙ ในปี ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๑ ตามลำดับ อันเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีมากขึ้น การไหลเข้าของการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐ และผลผลิตการเกษตรขยายตัว ขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ การก่อสร้าง และการท่องเที่ยวก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

.................................................................................................

ในภาพ : ท่าอากาศยานแห่งชาติเสียมราฐ



เศรษฐกิจระหว่างประเทศ.....

กัมพูชาอาศัยอุตสาหกรรม สิ่งทอ สินค้าเกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักมีการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างไทยและกัมพูชา...

+ สินค้าที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา ได้แก่ เชื้อเพลิงและน้ำมันสำเร็จรูป, ยานพาหนะและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป, นมเปรี้ยวพร้อมดื่มและโยเกิร์ต, อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง

+  สินค้าที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ เหล็ก โลหะและผลิตภัณฑ์, ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้, สินค้าประมง เช่น ปลาสด ปลาร้าและปลากรอบ, สินค้ากสิกรรม เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด งา ถั่วเหลือง และสิ่งทอ
ระบบคมนาคม

+ มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งภายในและระหว่างประเทศ

....... ทางรถไฟ มีเส้นทางรถไฟสำคัญ ๒ สาย ได้แก่ กรุงพนมเปญ – ศรีโสภณ และกรุงพนมเปญ – กัมปงโสม มีความยาวรวมทั้งสิ้น ๗๐๒ กิโลเมตร ขณะนี้ รัฐบาลกัมพูชาอยู่ในระหว่างการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟช่วงศรีโสภณ - ปอยเปต ระยะทาง ๔๘ ก.ม. เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของไทยที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อรองรับโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ - คุนหมิง (Singapore - Kunming Railways Links)

.......ทางรถยนต์ มีความยาวรวมกัน ๑๔,๗๙๐ กิโลเมตร แต่อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเพียง ๒,๖๐๐ กิโลเมตร เส้นทางสำคัญ ได้แก่ เส้นทางหมายเลข ๑ กรุงพนมเปญ – บ๋าแว็ต (ชายแดนเวียดนาม) ระยะทาง ๑๖๕ กิโลเมตร (ซึ่งต่อไปถึงนครโฮจิมินห์ของเวียดนามอีก ๖๘ กิโลเมตร), เส้นทางหมายเลข ๔ กรุงพนมเปญ – กรุงพระสีหนุ (กัมปงโสม) ระยะทาง ๒๔๖ กิโลเมตร, เส้นทางหมายเลข ๕ กรุงพนมเปญ – ปอยเปต ระยะทาง ๔๐๒ กิโลเมตร, เส้นทางหมายเลข ๖ เสียมราฐ – ศรีโสภณ ระยะทาง ๑๐๖ กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีถนนอีก ๒ สายที่ไทยให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้แก่ ถนนหมายเลข ๖๗ (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยกับ ภาคเหนือของกัมพูชาและจังหวัดเสียมราฐ และถนนหมายเลข ๔๘ (เกาะกง – สแรอัมเบิล) เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกของไทยกับภาคใต้ของกัมพูชาและเวียดนาม

........ ทางน้ำ มีท่าเรือระหว่างประเทศที่กรุงพนมเปญและกรุงพระสีหนุ (กัมปงโสม) และมี เส้นทางเดินเรือภายในประเทศตามลำแม่น้ำโขง แม่น้ำทะเลสาบ และแม่น้ำบาสัก

........ทางอากาศ มีท่าอากาศยานที่สำคัญ ๒ แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติโปเชนตง กรุงพนมเปญ และท่าอากาศยานเมืองเสียมราฐ กับมีท่าอากาศยานสำรองเพื่อการขนส่งสินค้าที่จังหวัดกำปงชนัง และท่าอากาศยานขนาดเล็กที่กรุงพระสีหนุ

.................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. ดีใจ ....ซ๊อบบายจิต

.................................................................................................

ในภาพ : หน่วยเงินตรา เงินเรียล (Riel) อัตราแลกเปลี่ยน ๔,๐๐๐ เรียลเท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๑๐๐ เรียล เท่ากับ ๑ บาท


อนุสาวรีย์เอกราช...ในภาษาเขมรเรียกว่า มิเมียน เอกเรียช...กลางกรุงพนมเปญ.....

ยามค่ำคืน....เมื่อต้องแสงและสี...

ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา

+ ความสัมพันธ์ทั่วไป

......... ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชานับได้ว่ามีพัฒนาการที่ก้าวหน้าและดำเนินไปบนพื้นฐานของความเข้าอก เข้าใจกัน โดยมีกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region - GMS) กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - กัมพูชา (ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม - ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖) ที่เมืองเสียมราฐและจังหวัดอุบลราชธานี (ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์แบบภายหลังการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖) และมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - กัมพูชา ครั้งที่ ๕ ที่กรุงพนมเปญ (ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙) นอกจากนี้ ยังมีกลไกความร่วมมืออีกมากทั้งในระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่นซึ่งมีส่วน ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาที่สำคัญในปัจจุบันและถือเป็น สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศได้แก่ การจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ ๕๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - กัมพูชา (ระหว่างวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ - ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙) โดยมีกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายฉลองร่วมกัน ๕๕ โครงการ ซึ่งหลายโครงการได้ดำเนินการลุล่วงไปแล้วและประสบความสำเร็จด้วยดี

+ ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

....... ผู้นำไทยกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีการแลกเปลี่ยนการเยือน ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นและ สามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สำหรับความร่วมมือที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่

- การสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกไทย - กัมพูชา ไทยกับกัมพูชามีพรมแดนทางบกติดต่อกันประมาณ ๗๙๘ กิโลเมตร มีหลักเขตทั้งสิ้น ๗๓ หลักเขต โดยมีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมและ คณะอนุกรรมการเทคนิคร่วมเป็นกลไกสำคัญที่กำกับดูแลภารกิจการสำรวจปักปันและ แก้ไขปัญหาเขตแดน ทางบก ขณะนี้ มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเขตแดนทางบกโดยสองฝ่ายจะเริ่มสำรวจเส้นเขต แดนบริเวณ หลักเขตที่ ๔๘ - ๔๙ ในจังหวัดสระแก้ว ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ และจะทยอยสำรวจและปักปันเขตแดน ที่เหลือต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลไทยกับกัมพูชายังสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ไหล่ทวีปที่ทั้ง สองฝ่าย อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันเพื่อให้สามารถแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในทะเล ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ มีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตแดนหรือปรับสภาพภูมิประเทศเพื่อวัตถุ ประสงค์ใดๆ ในพื้นที่ที่ยังขาดความชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดน มีส่วนสำคัญในการทำลายสันปันน้ำและสภาพภูมิประเทศตามธรรมชาติของเส้นเขตแดน และมักเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งและไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์และความเข้า ใจอันดีระหว่างสองประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา เพื่อให้มีการปฏิบัติตามความตกลงร่วมกัน

- ความร่วมมือชายแดน ปัจจุบันไทยกับกัมพูชามีจุดผ่านแดนถาวรระหว่างกัน ๖ จุด และจุดผ่อนปรนอีก ๙ จุด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสัญจรข้ามแดนระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐาน ของความตกลงสัญจรข้ามแดนไทย - กัมพูชา ปี ๒๕๔๐ ซึ่งกำหนดให้ผู้สัญจรข้ามแดนต้องใช้เอกสารเดินทาง ที่ถูกต้อง ได้แก่ หนังสือเดินทางและบัตรผ่านแดน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามเอกสาร Concept Paper on Thailand - Cambodia Border Points of Entry: Ways towards New Order, Effective Border Management and Greater Bilateral Cooperation ซึ่งส่งเสริมการสัญจรข้ามแดนที่ถูกต้อง การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในพื้นที่ชายแดน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ดี ปัญหาในพื้นที่ชายแดนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด แรงงานลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย การโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ปัญหาการปฏิบัติต่อชาวกัมพูชาที่ถูกจับกุม ในบางครั้ง การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอาจนำ ไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและ ประชาชนของทั้งสองประเทศได้

- ความร่วมมือด้านแรงงานและการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทยกับกัมพูชาได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ไทย - กัมพูชา และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขจัดการค้าเด็กและหญิงและการ ช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ เพื่อจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามแดนโดยผิดกฎหมายชาวกัมพูชาในประเทศ ไทย รวมทั้งป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ทางการไทยได้ขึ้นทะเบียนแรงงานชาวกัมพูชาไว้แล้วจำนวน ๑๘๓,๕๔๑ คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารประจำตัว (Certificate of Identity - C.I.) แก่แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจำนวน ๗๕,๘๐๔ คน ซึ่งนับจนถึงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๙ มีผู้ได้รับการรับรองสัญชาติและได้รับเอกสารประจำตัวแล้วจำนวน ๓๔,๑๑๓ คน

- การพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเห็นชอบร่วมกันที่จะพัฒนาปราสาทเขาพระวิหารเพื่อให้เป็น สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีงามที่ยั่งยืน โดยได้จัดตั้งกลไกขึ้นกำกับดูแล การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่สำคัญคือคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร และคณะอนุกรรมการอีก ๒ คณะ ได้แก่

๑. คณะอนุกรรมการวางแผนการพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร
๒. คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทเขาพระวิหาร โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้เริ่มโครงการพัฒนาภายหลังจากที่ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว และให้เชื่อมโยงการพัฒนาช่องตาเฒ่า (ห่างจากเขาพระวิหาร ๕ ก.ม.) ซึ่งฝ่ายกัมพูชามักรบเร้าให้ฝ่ายไทยเปิดเป็นจุดผ่านแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร โดยให้ดำเนินการทั้งสองเรื่องควบคู่กันในลักษณะ package และให้การพัฒนาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

+ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

......... ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาในทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในกัมพูชาประมาณ ๑,๕๐๐ คน ส่วนใหญ่เข้าไปประกอบธุรกิจส่วนตัว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และค้าขาย ประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญและเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา แต่โดยที่ระบบการบริหารจัดการภายในของกัมพูชา อาทิ การจัดเก็บภาษี การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความโปร่งใส ฯลฯ ยังขาดมาตรฐานและไม่เป็นสากล ทำให้การค้าและการลงทุนของไทยในกัมพูชามีต้นทุนสูงและเติบโตช้าซึ่งไม่สอด คล้องกับศักยภาพและสถานะทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลสองฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและตกลงที่จะร่วมมือกันเร่งรัดการ แก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ปรากฏผลที่เป็น รูปธรรมต่อไป

+ ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม

- ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทยกับกัมพูชามีความคล้ายคลึงกันทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก จึงเป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเป็น สื่อกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ดังเช่นความพยายามที่จะประสานรอยร้าวของความสัมพันธ์ภายหลังเหตุการณ์ความ ไม่สงบในกรุงพนมเปญเมื่อปี ๒๕๔๖ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย – กัมพูชา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและใช้เป็นกลไกในการกระชับความ สัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยสองฝ่ายได้จัดประชุมร่วมกันแล้วหลายครั้งเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือและ แผนปฏิบัติการประจำปีสำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันความร่วมมือในแต่ละสาขาด้วย
- ความร่วมมือทางวิชาการไทย - กัมพูชา ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเกษตร การศึกษาและด้านสาธารณสุขเป็นหลัก รวมทั้งการพัฒนาในสาขาอื่นๆ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชนบท และการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยในปี ๒๕๔๘ และปี ๒๕๔๙ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาเป็นงบประมาณจำนวน ๓๖.๖๖ ล้านบาท และ ๓๖.๓๒ ล้านบาท ตามลำดับ (ไม่นับความช่วยเหลือที่กัมพูชาได้รับโดยตรงจากส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอีกจำนวนมาก)

+ + แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา

....... เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชา นับจากต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทุกสาขาและทุกระดับน่าจะพัฒนาต่อไป ได้อย่างราบรื่น โดยมีกรอบความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีตามข้างต้นเป็นกลไก ขับเคลื่อนที่สำคัญ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย - กัมพูชา อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัย และสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมภายในกัมพูชาได้เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายใน และการถดถอยทางเศรษฐกิจเนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านพลังงานและปัจจัยแทรกซ้อน อื่น ๆ เช่น โรคระบาด
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย เป็นต้น

................................................................................................

ภาษาเขมรน่ารู้.. มินอินเต ...ไม่เป็นไรจ้า

................................................................................................

ใน ภาพ : เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมนาถแห่งกัมพูชาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาศทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อปี ๒๕๔๙



สายการบินแห่งชาติกัมพูชา.....Royal Khmer Airline .....



ต้นไม้ประจำชาติกัมพูชา....

ต้นตาลโตนด..Palmyra palm (Borassus flabellifer)


สัตว์ประจำชาติกัมพูชา...........

กูปรี หรือ โคโพร ...Kouprey (Bos sauveli)


นกประจำชาติ....

นกช้อนหอยใหญ่ The Giant Ibis, Thaumatibis gigantea .....ปัจจุบันถือได้ว่าหายากมากในโลก มีโอกาสพบเห็นได้ง่ายเฉพาะในกัมพูชาเท่านั้น...




ใครยังสนใจภาษาเขมรเพิ่มเติมเชิญที่นี่เลยครับ....

http://www.ubru.ac.th/ccu/khmer_index.php



.................................................................................................

รีวิว...ปราสาทเขาพระวิหาร.....ตั้งตระหง่านบนความขัดแย้ง...

http://th.wikipedia.org/wiki/ปราสาทเขาพระวิหาร





มุมสูง.. เพราะสร้างมาให้คนบนฟ้าดู(ตามความเชื่อขอมโบราณ)


ธงชาติราชอาณาจักรกัมพูชา....

......ธงที่ใช้ใน ปัจจุบันของกัมพูชา เป็นธงผืนเดียวกับที่สร้างขึ้นเมื่อปี ๑๙๔๘ (พ.ศ.๒๔๙๑) แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีธงชาติกัมพูชาอีก ๕ แบบเปลี่ยนใช้มาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นธงที่มีรูปนครวัดในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งสิ้น นครวัด เป็นความภาคภูมิใจของชาวกัมพูชา และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๑๒ สิ่งก่อสร้างแห่งนี้มีหอสูง ๕ หลัง แต่รูปที่ปรากฏบนธงเห็นเฉพาะด้านหน้าที่มีเพียงสามหลังเท่านั้น .....

ความหมายบนผืนธง....

- นครวัด แทน สัญลักษณืและความภาคภูมิใจของชาวกัมพูชา และที่เป็นสีขาวเพราะสื่อแทนถึงสันติภาพและศาสนา

- สีแดง แทน ชาติ

- สีน้ำเงิน แทน พระมหากษัตริย์

- สัดส่วนผืนธง ๒ : ๓

....ความหมายโดยรวมไม่แตกต่างจากผืนธงไตรรงค์ของเราเลย....




ความเป็นมา เป็นไปของผืนธงชาติแต่ละยุคสมัย....


ตราแผ่นดินราชอาณาจักรกัมพูชา......

......แบบ ปัจจุบัน เป็นรูปฉลองพระองค์ครุยคลุมพานแว่นฟ้า อัญเชิญพระแสงขรรค์และเครื่องหมายอุณาโลมภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมี มีลายช่อต่อออกมาจากกรรเจียกจรทั้งสองข้าง รูปดังกล่าวอยู่เหนือรูปดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งกัมพูชา (Royal Order of Cambodia) และมีรูปลายก้านขดอยู่ใต้รูปฉลองพระองค์ครุยอีกชั้นหนึ่ง ถัดมาทางด้านข้างทั้ง ๒ ด้านขนาบด้วยรูปฉัตร ๕ ชั้น ซึ่งประคองโดยคชสีห์ทางด้านซ้าย และราชสีห์ทางด้านขวา เบื้องล่างสุดของรูปทั้งหมดเป็นแพรแถบแสดงข้อความว่า " พระเจ้ากรุงกัมพูชา " ด้วยอักษรเขมรแบบอักษรมูล

ตรานี้ถือเป็นตราประจำราชวงศ์กัมพูชาและใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารกัมพูชาด้วย

ความหมายของสัญลักษณ์ในดวงตรามีดังต่อไปนี้

- รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระมหามงกุฎ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมเขมร
- ฉัตร 5 ชั้นทั้งสองคัน หมายถึง พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี
- พระแสงขรรค์ หมายถึง พระราชอำนาจและความยุติธรรม
- ราชสิห์และคชสีห์ หมายถึง ปวงชนชาวกัมพูชาผู้ค้ำจุนราชบัลลังก์



ธงมหาราช...

..........ประเทศกัมพูชาได้มีธง ประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ธงนี้เรียกชื่อว่า " ธงมหาราช " เช่นเดียวกับในภาษาไทย ในสมัยราชอาณาจักรกัมพูชายุค พ.ศ. ๒๔๙๑ -๒๕๑๒ ธงนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยม พื้นนอกสีแดง พื้นในสีน้ำเงิน กลางเป็นรูปตราแผ่นดินของกัมพูชาอย่างย่อ ในแบบลายเส้นสีทอง ต่อมาเมื่อมีการฟื้นฟูราชอาณาจักรอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๓๖ จึงได้เปลี่ยนธงใหม่เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นสีน้ำเงิน กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน กลางเป็นรูปตราแผ่นดินของกัมพูชา ซึ่งใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้



เพลงชาติกัมพูชา.... เพลงนครราช (Nokoreach)

เนื้อร้องโดย ...สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ), พ.ศ. ๒๔๘๔

- เป็นชื่อของเพลงชาติกัมพูชาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ มีความหมายว่า "เมืองของพระเจ้าแผ่นดิน" ทำนองของเพลงประพันธ์ขึ้นโดยอาศัยทำนองของเพลงเขมรโบราณที่มีชื่อเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสุรามฤต (เมื่อครั้งยังเป็นกรมขุนวิสุทธิ์ขัตติยวงศ์นโรดมสุรามฤต) ร่วมกันกับครูเพลงชาวฝรั่งเศส ๒ คน คือ F. Perruchot และ J. Jekyll ส่วนเนื้อร้องประพันธ์ขึ้น ภายหลังการราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหนุเสร็จสิ้นไปได้ไม่ เกิน ๓ เดือน (ราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔) และสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) สมเด็จพระสังฆราชในคณะสงฆ์มหานิกาย แต่ครั้งยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

              เพลงนครราชเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ในฐานะเพลงสรรเสริญพระบารมี (Royal anthem) และเริ่มใช้เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อประเทศกัมพูชาประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๒ เมื่อนายพลลอนนอลล้มรัฐบาลของสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ และสถาปนาสาธารณรัฐเขมรขึ้นแทนที่ เพลงนครราชจึงถูกยกเลิกฐานะของเพลงชาติไป

              ต่อมาเมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรล่มสลายในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สัญลักษณ์ต่างของระบอบกษัตริย์เขมร ซึ่งรวมถึงเพลงนครราช ได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ เมื่อเขมรแดงประกาศจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย เพลงนครราชถูกยกเลิกฐานะเพลงชาติอีกครั้งต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ด้วยสาเหตุจากความผันผวนทางการเมืองภายในประเทศ จนกระทั่งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวนิยมเจ้า ที่ชนะการเลือกตั้งภายใต้ควบคุมโดยสหประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เพลงนครราชก็ได้รับการรับรองเป็นเพลงชาติอีกครั้งมาจนถึงปัจจุบัน

             เนื้อร้องของเพลงนครราชมีอยู่ ๓ บท แต่เวลาร้องในประเทศกัมพูชานั้น นิยมร้องแต่บทแรกเพียงบทเดียวเท่านั้น

แปลไทย.....

ขอพวกเทพดา รักษามหากษัตริย์เรา
ให้ได้รุ่งเรือง โดยชัยมงคลศรีสวัสดี
เหล่าข้าพระองค์ ขอพำนักใต้ร่มพระบารมี
ในพระนรบดี วงศ์กษัตราซึ่งสร้างปราสาทหิน
ครอบครองแดนเขมร บุราณเรื้องเลื่องลือ ฯ

ปราสาทศิลา ซ่อนอยู่ท่ามกลางไพร
ควรคำนึงหวนให้ นึกถึงยศศักดิ์มหานคร
ชาติเขมรดุจหิน ดำรงวงศ์ละออยืนหยัดถาวร
เราหวังซึ่งพร บุญวาสนาแต่กาลก่อนของกัมพูชา
มหารัฐเกิดมี ช้านานมามาแล้ว ฯ

ครบวัดอาราม ยินแต่ศัพท์สำเนียงเสียงธรรม
สวดโดยยินดี รำลึกคุณพุทธศาสนา
จงเราเป็นผู้เชื่อ แน่ในใจจริงตามแบบยายตา
คงแต่เทพดา จะช่วยค้ำจุนบำรุงประโยชน์ให้
แด่ประเทศเขมร เป็นมหานคร ฯ




ขอขอบคุณ...

...ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ
...อิงวิกิเปเดีย
...ไทยวิกิเปเดีย
...คอสมอส..ธงนานาชาติ
...ไอพียู.คอม
...ฟริค เคอาร์
 ...Cradit_เจ้าของบทความ:คุณนก สุโขทัย
 http://worldwindow.pantipmember.com/

ร่ำลาด้วยนางอัปสรา....แห่งปราสาทขอมละกันครับ.....

.................โซม จุมเลียบเลีย.............


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ads Inside Post