:: รีวิว...ณ ดินแดนจากเหนือจรดใต้ร่วม ๔,๐๐๐ ไมล์....สาธารณรัฐชิลี ::


  :: รีวิว...ณ ดินแดนจากเหนือจรดใต้ร่วม ๔,๐๐๐ ไมล์....สาธารณรัฐชิลี ::    

สาธารณรัฐชิลี....เป็นประเทศหนึ่งใน ๑๒ ชาติอเมริกาใต้ตั้งอยู่ด้านตะวันตกตอนใต้ของทวีป ใต้เงาเทือกเขาแอนดิสที่ขนานไปกับมหาสมุทรแปซิฟิก ความเวิ้งว้างแห่งทะเลทรายอาตากามา (สเปน: Desierto de Atacama) และภูเขาไฟปารินนาโคต้าทางตอนเหนือ 
     ชิลีมีสภาพภูมิประเทศที่มีขนาดความกว้างของประเทศแคบมาก ในขณะที่จากเหนือจรดใต้สุดประเทศมีความยาวถึง ๔๐๐๐ ไมล์...ภูมิประเทศมีลักษณะยาวเลียบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในแนวตั้ง ทิศตะวันออกติดโบลิเวียและอาร์เจนตินา ทิศเหนือติดเปรูและโบลิเวีย และทิศใต้ติดขั้วโลกใต้.....

เนื้อที่ของประเทศ ๒ ล้านกว่าตารางกิโลเมตร (นับรวมเกาะอีสเตอร์และเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทร แปซิฟิกกับพื้นที่บริเวณแอนตาร์กติกอีก ๑,๒๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) และอีก ๘,๐๐๐ กิโลเมตร ในส่วนของแอนตาร์กติก มีความกว้างเฉลี่ยประมาณ ๑๗๗ กิโลเมตร และมีช่วงกว้างที่สุด ๓๖๒ กิโลเมตร.....

   ประชากรชาวชิลีทั้งประเทศมีราว ๑๖ ล้านคน ร้อยละ ๙๕ เป็นเชื้อชาติยูโรเปียน อาทิ สเปน เยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน นอกจากนั้น ส่วนใหญ่เป็นอาหรับและยูโกสลาเวีย ...ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๗๖.๗ นิกายโปรเตสแตนท์ ร้อยละ ๑๓.๒๕ ไม่นับถือศาสนาใดๆ ร้อยละ ๕.๘ และนับถือศาสนาอื่นๆ ร้อยละ ๔.๓ ...มีอัตราของผู้รู้หนังสือเกือบทั้งประเทศ

เมืองหลวงของประเทศชื่อว่า....ซันติอาโก (Santiago) ตั้งขึ้นโดยกัปตันเรือชาวสเปนชื่อ เปโดร เด วาลดิเวีย (Pedro de Valdivia) เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๐๘๔ ปัจจุบันกรุงซันติอาโก มีประชากรประมาณ ๕.๓ ล้านคน

................................................................................................

ในภาพ : ภูเขาไฟปารินาโคต้า ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ในขณะที่พื้นที่โดยรอบเป็นแหล่งหากินของตัวลามา...


  

 
    ชิลีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น แคว้น (สเปน: regiones) ๑๕ แคว้น แต่ละแคว้นมี ผู้ว่าการแคว้น (intendente) ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

แคว้นต่าง ๆ ทั้ง ๑๕ ได้แก่...

๑.  แคว้นตาราปากา (Tarapaca).. มีเมืองหลวงชื่อ.. อีกีเก (Iquique)
๒.  แคว้นอันโตฟากัสตา (Antofagasta).. มีเมืองหลวงชื่อ.. อันโตฟากัสตา (Antofagasta)
๓.  แคว้นอาตากามา (Atacama).. มีเมืองหลวงชื่อ.. โกเปียโป (Copiapo)
๔.  แคว้นโกกิมโบ (Coquimbo).. มีเมืองหลวงชื่อ.. ลาเซเรนา (La Serena)
๕.  แคว้นบัลปาราอีโซ (Valparaiso).. มีเมืองหลวงชื่อ.. ปัลปาราอีโซ (Valparaiso)
๖.  แคว้นโอฮิกกินส์ (Libertador General Bernardo O'Higgins).. มีเมืองหลวงชื่อ.. รังกากวา (Rancagua)
๗.  แคว้นโลสรีโอส (Los Rios).. มีเมืองหลวงชื่อ.. บัลดีเบีย (Valdivia)
๘.  แคว้นมากายาเนส (Magallanes y de la Antartica Chilena).. มีเมืองหลวงชื่อ.. ปุนตาอาเรนัส (Punta Arenas)
๙.  แคว้นอารีกา-ปารีนาโกตา (Arica y Parinacota).. มีเมืองหลวงชื่อ.. อารีกา (Arica)
๑๐. แคว้นซันติอาโกเมโทรโพลิแทน (Metropolitana de Santiago).. มีเมืองหลวงชื่อ.. ซันติอาโก (Santiago)
๑๑. แคว้นเมาเล (Maule).. มีเมืองหลวงชื่อ.. ตัลกา (Talca)
๑๒. แคว้นบีโอ-บีโอ (Biobio).. มีเมืองหลวงชื่อ.. กอนเซปซีออน(Concepcion)
๑๓. แคว้นอาเรากานีอา (Araucania).. มีเมืองหลวงชื่อ.. เตมูโก (Temuco)
๑๔. แคว้นโลสลาโกส (Los Lagos).. มีเมืองหลวงชื่อ.. ปวยร์โตมอนต์ (Puerto Montt)
๑๕. แคว้นไอย์เซน (Aisen del General Carlos Ibanez del Campo).. มีเมืองหลวงชื่อ.. โกยไอย์เก (Coihaique)

.... แต่ละแคว้นแบ่งออกเป็น จังหวัด (provincias) รวม ๕๑ จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด (gobernador) เป็นหัวหน้า โดยแต่ละจังหวัดก็ยังแบ่งพื้นที่ย่อยลงไปอีกเป็น เทศบาล (comunas) แต่ละแห่งมีนายกเทศมนตรี (alcalde) เป็นของตนเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ขณะที่นายกเทศมนตรีได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

.................................................................................................

ในภาพ : แผนที่แสดงที่ตั้งแคว้นแต่ละแคว้นของชิลี




แผนที่ประเทศชิลี....

สภาพในตัวเมืองหลวงอารีกา ของแคว้นอารีกา-ปารีนาโกตาครับ


โรงละครประจำเทศบาลเมืองอิกิเกแห่งแคว้นตาราปากา....



สภาพบ้านเรือนในตัวเมืองหลวงปัลปาไรยอิโซ....และเป็นศูนย์กลางท่าเรือแห่งประวัติศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย


เมืองหลวงของประเทศ.........กรุงซันติอาโก ....

...เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศชิลี ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง ๕๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล (๑,๗๐๐ ฟุต) ในหุบเขาตอนกลางของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซันติอาโกเมโทรโพลิแทน แม้ว่าซันติอาโกจะเป็นเมืองหลวง แต่หน่วยงานราชการทางนิติบัญญัติกลับตั้งอยู่ใกล้กับเมืองบัลปาราอีโซ

เกือบสามศตวรรษที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องได้เปลี่ยนให้ซันติอาโกเป็นเขตนครหลวงที่สมัยใหม่ที่สุดแห่งหนึ่งในลาตินอเมริกา พร้อม ๆ กับการพัฒนาเขตชานเมืองอย่างกว้างขวาง ศูนย์การค้าหลายสิบแห่ง และสถาปัตยกรรมที่น่าประทับใจ รวมทั้งมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของลาตินอเมริกาเป็นที่เชิดหน้าชูตา เช่น ซันติอาโกเมโทร (Santiago Metro) และระบบใหม่ "โกสตาเนรานอร์เต (Costanera Norte)" เป็นระบบขนส่งของย่านกลางกรุง เชื่อมระหว่างด้านตะวันออกสุดไปด้านตะวันตกสุดของเขตเมืองภายในเวลา ๑๕ นาที

นอกจากนี้ ซันติอาโกยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทสำคัญหลายแห่งและเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย

................................................................................................
ในภาพ : กรุงซันติอาโก เมืองหลวงของประเทศชิลี


การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐชิลี....

ชิลีมีระบอบการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ...มีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร วาระ ๔ ปี...

- ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภา (Congress) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) มีสมาชิก ๑๒๐ คน วาระ ๔ ปี เลือกตั้งทุก ๔ ปี และวุฒิสภา (Senate) มีสมาชิก ๓๘ คน วาระ ๘ ปีเลือกตั้งทุก ๔ ปี โดยสลับเลือกตั้งระหว่างเขตภูมิภาคเลขคี่ กับเขตภูมิภาคเลขคู่ซึ่งรวมเขต Metropolitan (กรุงซันติอาโก)

ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

บุคคลสำคัญทางการเมืองปัจจุบัน....

- ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ฯพณฯ นางเวโรนิกา มิเชล บาเชเลท เฆเรีย จากพรรค Socialist Party 
โดยรับตำแหน่งครั้งแรกเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 และรับตำแหน่งครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557







ประธานาธิบดีคนแรกของชิลี...มานูเอ็ล โฮเซ บลังโก อี คาลโบ เดอ เอนคาลาดา ...ดำรงตำแหน่งช่วงปี ค.ศ.๑๘๒๖ ....

ประธานาธิบดีคนแรกของชิลี...มานูเอ็ล โฮเซ บลังโก อี คาลโบ เดอ เอนคาลาดา ...ดำรงตำแหน่งช่วงปี ค.ศ.๑๘๒๖ 

อดีตประธานาธิบดีออกุสโต โฮเซ รามอน ปิโนเชท์ อูการ์เต ครองอำนาจปี ๑๙๗๔-๑๙๙๐.....หรือที่คนทั่วโลกให้สมญานามว่า จอมเผด็จการปิโนเชท์...

....พล.อ.ปิโนเชต์ได้ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลมาร์กซิสม์ของนายซัลวาดอร์ อัลเลนเด (ซัลวาดอร์ อิซาเบลลิโน อัลเลนเด กอสเซนส์) ประธานาธิบดีชิลี ในปี ค.ศ.๑๙๗๔ ซึ่งก่อให้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงในเวลาต่อมา โดยในระหว่างที่ พล.อ.ปิโนเชต์เรืองอำนาจตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐-๑๙๙๐ นั้น ได้มีประชาชนถูกสังหารหรือหายตัวไปกว่า ๓,๐๐๐ คน หลังสิ้นอำนาจ พล.อ.ปิโนเชต์ได้ถูกดำเนินคดีในหลายข้อกล่าวหา ได้แก่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉ้อโกงภาษี และยักยอกเงินบัญชีลับในต่างประเทศจำนวน ๒๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ปิโนเชต์ไม่เคยถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในชั้นศาล โดยทนายฝ่ายจำเลยให้เหตุผลว่าสุขภาพของเขาย่ำแย่เกินกว่าที่จะขึ้นศาลได้ ....

พล.อ.ปิโนเชท์ จบชีวิตลงอย่างสงบ ในวัย ๙๑ เมื่อวันรัฐธรรมนูญปี ๒๐๐๖ ...


อดีตประธานาธิบดีออกุสโต โฮเซ รามอน ปิโนเชท์ อูการ์เต ครองอำนาจปี ๑๙๗๔-๑๙๙๐




รีวิว..ชิลี



เศรษฐกิจและสังคมของชิลี...

- แม้ว่าประธานาธิบดีบาเชเลทมาจากกลุ่มนิยมซ้าย แต่ในการรณรงค์การเลือกตั้งได้ย้ำว่าไม่ชื่นชอบแนวประชานิยม แต่ใช้แนวนโยบายการคลังที่ยั่งยืน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีลักษณะ business-friendly ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดเสรี (liberal economy policy) และการค้าเสรี ซึ่งเป็นแนวทางต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน (ปัจจุบันชิลีมีอัตราภาษีศุลกากรต่ำที่สุดในลาตินอเมริกา คือ ประมาณร้อยละ ๖)

- ชิลีเป็นประเทศที่มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ รวมแล้ว ๕๔ ฉบับ โดยได้ลงนาม FTA กับแคนาดา เม็กซิโก อเมริกากลาง สหภาพยุโรป EFTA เกาหลีใต้ สหรัฐฯ จีน (ชิลีเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่จีนทำ FTA ด้วย) เกาหลีใต้ (เป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ชิลีทำ FTA) และญี่ปุ่น (ชิลีเป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่ญี่ปุ่นทำ FTA) และได้จัดทำความตกลง Closer Economic Partnership (CEP) แบบสี่ฝ่ายกับสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และบรูไน ขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจาจัดทำ FTA กับเปรู เอกวาดอร์ ปานามา มาเลเซีย เวียดนาม รวมทั้งจัดทำ Preferential Trade Agreement เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำ FTA กับอินเดีย นอกจากนั้น ชิลีได้เสร็จสิ้นการจัดทำ feasibility study เพื่อจัดทำ FTA ร่วมกับไทยแล้ว และพร้อมเริ่มการเจรจา ล่าสุดในปี ๒๕๕๐ ชิลีประกาศเริ่มการเจรจา FTA กับออสเตรเลีย และยังมีโครงการที่จะทำ FTA กับอินโดนีเซียในอนาคตอันใกล้ด้วย

- ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาดท้องถิ่นมากขึ้น มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของระบบการ ศึกษา การเพิ่มโอกาสการทำงานแก่แรงงานสตรีและแรงงานที่มีอายุน้อย การกระตุ้นนวัตกรรม และการปฏิรูปสังคมและระบบบำนาญ แม้ว่าประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกามีวัตถุดิบที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศ เช่น โบลิเวีย (ก๊าซ) เวเนซุเอลา (น้ำมัน) เอกวาดอร์ (น้ำมัน) แต่ชิลีเป็นประเทศในลาตินอเมริกาประเทศเดียวที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากราคาวัตถุดิบของชาติ (ทองแดง) นำมาแปลงให้เป็นรายได้แผ่นดินได้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชิลีเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพิงแต่การส่งออกวัตถุดิบหลักของประเทศเหล่านี้อาจจะประสบปัญหาอย่างจริงจังในทันทีที่ราคาวัตถุดิบตกลง

- ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการสร้างงานให้กับประชาชน และดำเนินมาตรการเพื่อเปิดตลาดและส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุน โดยได้ปรับกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และการที่ชิลีมีระบบเศรษฐกิจเปิดและมีความเป็นสากลมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีนโยบายการค้าเสรีและส่งเสริมการลงทุน ปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ไม่มีข้อห้ามในการนำเข้าสินค้าและบริการ ปัญหาการถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้ามีน้อย ทำให้ชิลีเป็นประเทศที่มีพลวัตรการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงที่สุดในลาตินอเมริกา

- ชิลีเป็นประเทศที่มีพลวัตรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงที่สุดในลาตินอเมริกา สังเกตได้จากผลการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ อาทิ

------ การจัดอันดับความโปร่งใสของ International Transparency ประจำปี ๒๕๔๙ ชิลีจัดเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมาก (มีคอรัปชั่นน้อย) เป็นอันดับที่ ๒๐ ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา
------ รายงานการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความน่าลงทุน (FDI) ของนิตยสาร Forbes (Calpital Hospitality Index) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ชิลีจัดอยู่ในอันดับที่ ๒๐ ของจำนวนประเทศทั้งหมด ๑๓๕ ประเทศ และจัดเป็นประเทศที่มีความน่าลงทุน (FDI) มากที่สุดในลาตินอเมริกา
------ รายงาน “Doing Business ๒๐๐๗” ของ World Bank ชิลีจัดเป็นประเทศที่มี facilities ในการทำธุรกิจมากเป็นอันดับที่ ๒๘ ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา
------ เป็น Safest Emerging Market เป็นอันดับที่ ๒ องจากสิงคโปร์ (อันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา) จากการจัดอันดับของ DekaBank ของเยอรมนี และเป็นอันดับที่ ๖ (อันดับหนึ่งของลาตินอเมริกา) จากการจัดอันดับของ Business Monitor International (BMI) ประจำปี ๒๕๔๙
------ การจัดอันดับ Economic Freedom ของ The Heritage Foundation เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๐ ชิลีจัดเป็นประเทศ มีเศรษฐกิจเสรีมากที่สุด อันดับที่ ๑๑ ของโลก และเป็นอันดับ ๓ ของทวีปอเมริกาซึ่งมีทั้งหมด ๒๙ ประเทศ
------ Santander Investment ชิลีเป็นประเทศที่มีความน่าลงทุนเป็นอันดับที่ ๓ ของภูมิภาคลาตินอเมริกาในช่วงครึ่งปีแรกของปี ๒๕๕๐ รองจากบราซิลและเม็กซิโก
------- บริษัท Management & Excellence (Spain-based research and rating company) ได้จัดอันดับให้ชิลีเป็น “The Most Sustainable Nation in Latin America” โดยพิจารณาจากสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การเมืองและสิ่งแวดล้อม อันดับที่สอง คือ อาร์เจนตินา อันดับที่สาม คือ เม็กซิโก
------ Global Competitiveness Index ๒๐๐๖ ของ World Economic Forum ชิลีจัดอยู่ในอันดับที่ ๒๗ ของโลก และเป็นอันดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา (คอสตาริกาอยู่อันดับที่ ๕๓ ปานามาอยู่อันดับที่ ๕๗ เม็กซิโกอยู่อันดับที่ ๕๘ เอลซาวาดอร์อยู่อันดับที่ ๖๑ โคลอมเบียอยู่อันดับที่ ๖๕ บราซิลอยู่อันดับที่ ๖๖ อาร์เจนตินาอยู่อันดับที่ ๖๙ อุรุกวัยอยู่อันดับที่ ๗๓ เปรูอยู่อันดับที่ ๗๔) ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ ๓๕ ของโลก
------- Country Risk Ranking ประจำปี ๒๕๔๘ โดย Economist Intelligence Unit ชิลีจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในลาตินอเมริกา

+ ทรัพยากรธรรมชาติของชิลี ได้แก่ ทองแดง ไม้ เหล็ก อัญมณี สัตว์น้ำ

+ อุตสาหกรรม ได้แก่ ทองแดง แร่ธาตุอื่นๆ อาหารแปรรูปประเภทปลา
ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องมือสื่อสาร ปูน สิ่งทอ

+ ผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด องุ่น ถั่ว มันสำปะหลัง ผลไม้ สัตว์ปีก ขนสัตว์ ปลา ไม้

+ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรคมนาคม เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ก๊าซธรรมชาติ

+ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากปลา กระดาษ เคมีภัณฑ์ ไวน์ และผลิตภัณฑ์ไม้

.....ประเทศคู่ค้าสำคัญ

- สินค้าเข้ามาจาก - อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน อังโกลา เยอรมนี เปรู เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
- สินค้าออกไปสู่ - สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น

+ หน่วยเงินตราของชิลี....สกุลเปโซชิลี (Chilean Peso) อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ๕๒๐.๔๐ เปโซ (สถานะวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๐)

.................................................................................................

ในภาพ : ธนบัตรฉบับละ ๒๐,๐๐๐ เปโซชิลีเป้นภาพของ ดอน แอนเดรส เบลโล. (ชื่อเต็ม แอนเดรส เดอ เจซุส มาเรีย อี โฮเซ เบลโล โลเปส) ...เขาเป็นใครตามไปดูได้ที่นี่ครับ 

http://en.wikipedia.org/wiki/Andr%C3%A9s_Bello





   

นโยบายต่างประเทศ

- ยังคงดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเฉพาะกับอาร์เจนตินา (คู่ค้าอันดับสองรองจากสหรัฐฯ และป็นประเทศที่ชิลีต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจมากที่สุดในลาตินอเมริกา เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานนำเข้าสำคัญที่สุดของชิลี นอกจากนี้ ชิลียังมีการลงทุนจำนวนมากในอาร์เจนตินา) บราซิล (คู่ค้าอันดับสาม) อุรุกวัย และปารากวัย ซึ่งประธานาธิบดีบาเชเลทได้เดินทางเยือนเป็นกลุ่มประเทศแรกภายหลังรับตำแหน่ง

- ชิลีคงจะยังให้ความสำคัญต่อภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันออกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีชาวยุโรป อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ตั้งรกรากในชิลีตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ เนื่องจากเป็นจุดแวะพักและสถานีการค้าก่อนที่จะมีคลองปานามา นอกจากนี้ ชิลียังเป็นแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของยุโรป เช่น ทองแดง อาหารทะเลและขนสัตว์

- ชิลีให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ชิลีเข้าร่วมในกิจกรรมของเอเปคตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ และเป็นสมาชิกสมบูรณ์ในปี ๒๕๓๗ โดยชิลีเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศในลาตินอเมริกานอกเหนือจากเปรูและเม็กซิโกที่เป็นสมาชิกเอเปค ทั้งนี้ นับตั้งแต่ชิลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ๒๐๐๔ รัฐบาลชิลีได้หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับที่สองและสามของชิลีตามลำดับ ในการนี้ รัฐบาลชิลีได้จัดทำ ASIA PLAN ๒๐๐๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทของชิลีในภูมิภาคเอเชียให้ชัดเจนโดดเด่นยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ชิลีเป็น platform ทางด้านการค้าการลงทุนของภูมิภาคลาตินอเมริกาและเป็นประตูเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา

- ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาได้มีการเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียทั้งระดับประธานาธิบดีและระดับรัฐมนตรี สำหรับประเทศไทยนายอิกนาซิโอ วอล์คเกร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชิลีในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีริการ์โด ลากอส ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง ๑๙-๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ นอกจากนั้น ประธานาธิบดีบาเชเลทได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๑๔ เมื่อเดือนฤศจิกายน ๒๕๔๙ ที่เวียดนาม และได้เยือนเวียดนาม และนิวซีแลนด์ โดยประธานาธิบดีบาเชเลท และประธานาธิบดีเวียดนามได้ร่วมกันลงนามแสดงเจตจำนงที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ระหว่างกัน...

.................................................................................................

ในภาพ : ในระหว่างการเยือนบราซิลอย่างเป็นทางการของนางบาเชเลท


บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

- ชิลีเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี ๒๕๔๖-๒๕๔๗ และได้คัดค้านการใช้กำลังทางทหารและการบุกรุกอิรักของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งทำให้ชิลีได้รับแรงกดดันและการตอบโต้จากสหรัฐฯ และทำให้การลงนามความตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ - ชิลีต้องล่าช้ากว่ากำหนด นอกจากนี้ ชิลีเห็นว่า ควรจะมีข้อมติใหม่เพื่อให้สหประชาชาติเป็นองค์กรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในอิรัก ทั้งนี้ ชิลียังไม่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือใดๆ ในการฟื้นฟูอิรักหลังสงคราม

- ชิลีให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในลาตินอเมริกาทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และการรวมกลุ่ม การกำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งการผลักดันให้องค์กรระดับภูมิภาคของลาตินอเมริกามีความแข็งแรง อาทิ องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States, OAS) โดยเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ นายโฆเซ่ มิเกล อินซูลซา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของชิลี ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ OAS และกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) เป็นต้น

- ชิลีส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ร่วมกับสิงคโปร์เป็นแกนนำในการจัดตั้งเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation: FEALAC) เมื่อปี ๒๕๔๒ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา

- นอกจากนี้ ในกรอบพหุภาคีทางเศรษฐกิจ นายอเลฆานโดร ฆารา อดีตเอกอัครราชทูตชิลีประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และประธานกลุ่มเจรจาการค้าบริการของ WTO ได้เข้ารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการใหญ่ WTO อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘






ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรับชิลี

....ไทยและชิลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๕ และครบรอบ ๔๕ ปี ในปี ๒๕๕๐ โดยชิลีเปิดสถานเอกอัคราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๔ และไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๓๗ โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโกปัจจุบัน คือ นางสาววิมล คิดชอบ ส่วนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย คนปัจจุบัน คือ นายโคอากีน มอนเตส (Mr. Joaquin Montes) เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ และได้ถวายอักษรสาส์นตราตั้งฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ นอกจากนี้ ไทยได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เมือง Concepción เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๕

ไทยและชิลีมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ระดับความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกันในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สังคม และวิชาการยังจำกัด ซึ่งรัฐบาลพยายามหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อขยายความสัมพันธ์กับชิลีทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้นในกรอบพหุภาคี ไทยและชิลียังมีความร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ เอเปค และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation, FEALAC)

................................................................................................

ในยุคของท่านบาเชเลท ไม่พลาดที่จะไปเยี่ยมเยียนท่านคาสโตรซักครั้ง




รีวิว...ชิลี


โบสต์คริสต์ทรงยุโรปในกรุงซันติอาโก...



ส่วนหนึ่งในเส้นทางผ่านทะเลทรายอตากามา..



ส่วนหนึ่งในความงดงามที่ทะเลสาบคอนกุยเอโล ในอุทยานแห่งชาติคอนกุยเอโล....





 
ในอีกมุมมองเมื่อโคลสอัพมาที่...ทะเลสาบคอนกุยเอโล...



กวางฮิวมุล ...The South Andean Deer (Hippocamelus bisulcus) สัตว์ประจำชาติชิลี....เป็นสัตว์ป่าหายากมากแถบเทือกเขาแอนดิส


เขาชอบอยู่ในที่แบบนี้ครับ...



เมืองซานฮวน บาวติสต้า, เกาะโรบินสัน ครูโซ, บริเวณอ่าวคัมเบอร์แลนด์.....เป็นส่วนหนึ่งของชิลีเช่นกัน...

นกฮัมมิ่งสีเพลิงฮวนเฟอนัลเดซ The Juan Fernandez Firecrown (Sephanoides fernandensis) ....พบได้ที่เกาะ เกาะโรบินสัน ครูโซ




ในอีกส่วนหนึ่ง...ของแผ่นดินชิลี


กลับมาในเมือง....


   เกาะอีสเตอร์ (Easter) ในกลุ่มเกาะโพลินิเซีย เป็นส่วนหนึ่งของประเทศชิลี...ในชื่อท้องถิ่นจะเรียกว่า ราปานุย (Rapanui) .....ในภาษาสเปนเรียกว่า เกาะปัสกวา (Isla de Pascua) ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ในการปกครองของประเทศชิลี ซึ่งเกาะห่างจากฝั่งประเทศชิลีกว่า ๓,๖๐๐ กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตก เกาะที่ใกล้เกาะอีสเตอร์มากที่สุดอยู่ห่างฝั่งจากถึง ๒,๐๐๐ กิโลเมตร จึงได้ชื่อว่าเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งของโลก ลักษณะของเกาะมีขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง ๑๖๐ ตารางกิโลเมตร มีความยาว ๒๕ กิโลเมตร ....

 

ประวัติศาสตร์ของเกาะอีสเตอร์...

ปี ค.ศ. ๑๖๘๐ เป็นช่วงที่ชาวเผ่าสองเผ่าที่อยู่บนเกาะ ซึ่งมีชนเผ่าหูสั้น (คาดว่าเป็นพวกที่มาจากเกาะแถบโพลีนีเซีย) กับเผ่าหูยาว (คาดว่ามาจากอเมริกาใต้) ซึ่งอยู่อย่างสงบมาช้านานได้ทะเลาะกันและทำสงครามกัน ทำให้ป่าเริ่มหมด สภาพดินเริ่มเสื่อมลง เผ่าหูสั้นซึ่งมีประชากรน้อยกว่ากลับชนะเผ่าหูยาว และช่วงที่ทำการรบอยู่นั้น พวกชาวเผ่าหูสั้นก็ได้ทำลายรูปปั้นหินและโคนรูปเกาะสลักเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นได้มีสงครามและความอดอยากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ในปี ค.ศ. ๑๗๒๒ นักเดินชาวดัตช์ได้เดินทางมาพบใน อาทิตย์อีสเตอร์ ซึ่งเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้ามาถึง ได้ค้นพบว่าบนเกาะมีชนเผ่าอาศัยอยู่สองเผ่า และได้ตั้งชื่อเกาะให้ตรงกับวันที่ได้พบคือวันอีสเตอร์

ในปี ค.ศ. ๑๗๗๐ นักเดินเรือชาวสเปนที่เดินทางมาจากเปรูได้ค้นพบเกาะนี้อีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นบนเกาะมีซึ่งมีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่ มีประชากรราว ๓,๐๐๐ คน แต่สี่ปีให้หลังจากนั้น กับต้นเจมส์ คุกที่เดินทางสำรวจแถบแปซิฟิกครั้งที่สอบ ก็ได้พบเกาะอีสเตอร์ ซึ่งขณะนั้นประชากรบนเกาะเหลืออยู่เพียง ๖๐๐-๗๐๐ คน และมีผู้หญิงอยู่เพียง ๓๐ คนเท่านั้น (มีการเล่าต่อกันมาว่าอาจเกิดจากการที่ผู้หญิงและเด็กถูกจับกิน จึงทำให้เด็กกับผู้หญิงลดน้อยลง) ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ รัฐบาลเปรูได้กวาดต้อนชาวพื้นเมืองชายประมาณ ๑,๐๐๐ คนไปเป็นทาสบนแผ่นดินใหญ่ แต่ไม่กี่เดือนให้หลัง หลังจากทาส ๑๕ คนที่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อกลับมาที่เกาะ ก็ได้นำเชื้อไข้ทรพิษกลับเข้ามาด้วย ทำให้ชาวเกาะซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันได้ติดโรคร้ายไปด้วย ทำให้ประชากรลดลงไปมาก จากการที่ชาวพื้นเมืองไม่ได้บันทึกอะไรไว้เลย สิ่งที่ถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลังคือเล่าจากปากต่อปาก ต้นตอของสิ่งต่าง ๆ จึงได้ตายหายไปพร้อมกับชาวพื้นเมืองที่ลดจำนวนลงไปด้วย แม้จะมีข้อความสัญลักษณ์ แต่ก็ไม่สามารถถอดความได้ และยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ว่าชาวเกาะอีสเตอร์ได้อพยบมาจากที่ใด

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ประเทศชิลีก็ได้ผนวกเกาะอีสเตอร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในปี ค.ศ. ๑๘๘๘ หลังจากนั้นประชากรบนเกาะก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง




รูปสลักหินขนาดยักษ์บนเกาะอีสเตอร์...

.....ถึงแม้ว่าจะไม่มีรู้ที่มาของชาวพื้นเมืองบนเกาะ แต่ชาวพื้นเมืองก็ได้สร้างรูปสลักยักษ์ขึ้น ซึ่งสร้างจากหินและกากแร่ภูเขาไฟหรือหินบะซอลต์ ซึ่งรูปสลักในยุกแรกจะเป็นรูปสลักคนนั่งคุกเข่าในช่วงประมาณ ค.ศ. ๓๘๐ ในยุคถัดมาเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๑๐๐ จะสลักเป็นรูปที่เรียกว่า โมอาย (moai) ซึ่งเป็นที่โดดเด่นทั่วไปบนเกาะ....





โมอาย (Moai) คืออะไร....

- รูปปั้นหินซึ่งมีรูปร่างคล้ายมนุษย์และส่วนศีรษะมีขนาดใหญ่เด่นชัด โมอายถูกพบมากกว่า ๖๐๐ ตัว กระจายอยู่ทั่วเกาะอีสเตอร์ อุทยานแห่งชาติลาปานุย ประเทศชิลี โมอายเกือบทั้งหมดที่พบนั้นถูกแกะสลักมาจากหินก้อนเดียว แต่ก็มีบางตัวซึ่งมี ปูกาว (Pukau) ลักษณะคล้ายหมวกเป็นชิ้นต่างหากอยู่บนศีรษะ โมอายเกือบทั้งหมดถูกแกะสลักมาจากเหมืองหินที่ราโน ราราคู (Rano Raraku) ซึ่งเป็นที่ที่พบโมอายอยู่กว่า ๔๐๐ ตัว อยู่ในกระบวนการแกะสลักซึ่งใกล้เสร็จสมบูรณ์

จากการค้นพบรูปปั้นที่ยังแกะสลักอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั้น ทำให้มีการสันนิษฐานว่าเหมืองหินได้ถูกทิ้งร้างไปอย่างกระทันหัน นอกจากนั้นในการค้นพบ โมอายเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพล้มนอน ซึ่งเชื่อว่าชาวพื้นเมืองบนเกาะเป็นผู้ทำให้มันล้ม

ลักษณะที่เด่นชัดของโมอาย คือ ส่วนหัว แต่ก็มีโมอายหลายตัวซึ่งมีส่วนหัวไหล่, แขน และลำตัว ซึ่งเป็นโมอายที่พบหลังจากถูกฝังมานานนับปี ความหมายและวัตถุประสงค์ของการสร้างโมอายนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดและมีการสันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา

ข้อสันนิษฐานที่แพร่หลายมากที่สุดข้อหนึ่ง คือ รูปปั้นโมอายถูกแกะสลักโดยพวกโพลิเนเชียน (Polynesian) ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะนี้เมื่อกว่า ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ข้อสันนิษฐานนี้เชื่อว่า พวกโพลิเนเชียนอาจสร้างโมอายขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรืออาจจะเป็นผู้ซึ่งมีความสำคัญ ณ สมัยนั้น หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะของครอบครัว

เห็นได้ชัดว่าการสร้างโมอาย (ขนาดทั่วไปสูงประมาณ ๓.๕ เมตร หนัก ๒๐ ตัน) นั้นต้องลงทุนลงแรงและใช้เวลาเป็นอย่างมาก หลังจากสร้างเสร็จแล้วยังต้องเคลื่อนย้ายรูปปั้นไปยังตำแหน่งที่ต้องการ การขนย้ายโมอายซึ่งหนักและใหญ่นั้นทำอย่างไรก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

ในตำนานของเกาะนั้นกล่าวถึงหัวหน้าเผ่าซึ่งเสาะหาที่ตั้งบ้านใหม่ และเขาได้เลือกหมู่เกาะอีสเตอร์ หลังจากที่หัวหน้าเผ่าตายไป เกาะก็ได้ถูกแบ่งให้เหล่าลูกชายของเขาเพื่อให้เป็นหัวหน้าเผ่าใหม่ เมื่อหัวหน้าเผ่าคนใดตายไปก็มีการนำโมอายไปตั้งไว้ ณ สุสาน ชาวเกาะทั้งหลายเชื่อว่ารูปปั้นโมอายจะรักษาจิตวิญญาณของหัวหน้าเผ่าเหล่านั้นไว้ เพื่อให้นำสิ่งดี ๆ มาสู่เกาะ เช่น ฝนตก พืชพรรณสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ตำนานนี้อาจมีการบิดเบือนไปจากความจริงเนื่องจากได้มีการเล่าสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน



  

สายการบินแห่งชาติ สายการบิน LAN Airline......


ธงชาติและตราแผ่นดินของชิลี....

...ธงของชิลีเกิดขึ้นเมื่อปี ๑๘๑๗ หลังชัยชนะของ ฆวน มาร์ตินที่ชาคาบูโก แต่เวลานั้นธงชาติของประเทศยังแบ่งเป็นสองแบบ เพราะยังรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ ธงชาติชิลีที่เห็นใช้อยู่ในปัจจุบันมีพื้นฐานมาจากธงแถบและดาวของสหรัฐอเมริกา...

ดาวสีขาวจะเก็บไว้ใช้เฉพาะกับธงราชการเท่านั้น จนกระทั่งปี ๑๘๖๔ ดาวสีขาวจึงตราอยู่บนผืนธงอย่างถาวรและใช้กับทุกประสงค์

ตราแผ่นดิน....

เป็นภาพกวางฮิวมูลและแร้งคอนดอร์ประคองตราโล่ลายธงชาติ ยอดตราเป็นขนนกรีอา...สามก้าน ในชุดสีประจำชาติ ด้านล่างปรากฎคำขวัญเขียนบนริ้วจารึก.. ปอร์ ลา ราซอน โอ ลา ฟูเออร์ซา แปลว่า โดยเหตุผลหรือโดยกำลัง...



ตราแผ่นดิน...



แร้งคอนดอร์...นกประจำชาติ



 

เพลงชาติชิลี...

http://en.wikipedia.org/wiki/National_Anthem_of_Chile




ขอขอบคุณ...

...ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ
...อิงวิกิเปเดีย
...ไทยวิกิเปเดีย
...คอสมอส..ธงนานาชาติ
...ไอพียู.คอม
...ฟริค เคอาร์
...และสุดท้ายชาวหน้าต่างโลกทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาทักทายกันครับ

ลาก่อน....แล้วพบกันใหม่นะ... 



ลาจริง ๆ ล่ะ ด้วยสาว ๆ ชิลีคนนี้จ้า...





Cradit: คุณนกสุโขทัย และ worldwindow.pantipmember.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Ads Inside Post